วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553

การแสดงข้อความกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหารในผลิตภัณฑ์อาหาร
รองศาสตราจารย์บัญญัติ สุขศรีงาม
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา

          ในปัจจุบันมีอาหารจำหน่ายหลากหลายรูปแบบ ผู้ผลิตอาหารเหล่านี้มุ่งใช้การโฆษณาเพื่อชักจูงใจให้ผู้บริโภคมาซื้อหาไปรับประทาน เช่น อาหารบางชนิดมีสารอาหารเพียงเล็กน้อย แต่อาศัยการโฆษณาเกี่ยวกับประโยชน์ของสารอาหารเหล่านี้ต่อร่างกายผู้บริโภค จึงทำให้ดูเหมือนว่าถ้ารับประทานอาหารนี้เข้าไปจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวเป็นลักษณะการกระทำเพื่อหาผลประโยชน์จากผู้บริโภคที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่รู้เท่าทัน ทำให้มีผู้ร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงได้มีประกาศเรื่อง การแสดงข้อความกล่าวอ้างเกี่ยวกับหน้าที่ของสารอาหาร เพื่อให้การแสดงข้อความกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับหน้าที่ของสารอาหารเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 182 พ.ศ.2541 เรื่อง ฉลากโภชนาการ ซึ่งประกาศนี้ได้มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2551 โดยได้กำหนดให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารต้องแสดงข้อความกล่าวอ้างเกี่ยวกับหน้าที่ของสารอาหารที่เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ จำนวน 29 รายการ ได้แก่ โปรตีน ใยอาหาร วิตามินเอ วิตามินบีหนึ่ง วิตามินบีสอง ไนอะซิน วิตามินบีหก ไบโอติน กรดโฟลิก/โฟเลต กรดแพนโธทีนิค วิตามินบีสิบสอง วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี วิตามินเค แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ไอโอดีน แมกนีเซียม สังกะสี ทองแดง โพแทสเซียม แมงกานีส ซีลีเนียม ฟลูออไรด์ โมลิบดีนัม โครเมียมและคลอไรด์
          สำหรับข้อความกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหารที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอาหารและยามีหลายข้อความ เช่น “โปรตีนจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย” “กรดอมิโนที่จำเป็นต่อการสร้างโปรตีนชนิดต่าง ๆ ในร่างกาย” “ใยอาหารเพิ่มกากใยระบบทางเดินอาหาร ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย” เป็นต้น แต่ถ้าหากกรณีข้อความกล่าวอ้างมีหลายข้อความก็ให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกข้อความใดข้อความหนึ่งหรือหลายข้อความก็ได้ อย่างไรก็ตามการแสดงข้อความต้องต่อเนื่องกันและต้องแสดงข้อความว่า “ควรกินอาหารหลากหลาย ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสมเป็นประจำ” กำกับการกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหารด้วยตัวอักษรที่ชัดเจนควบคู่ไปด้วย
          สำหรับผู้ประกอบการรายใดที่มีความประสงค์จะแสดงข้อความกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหารแตกต่างจากที่คณะกรรมการอาหารและยากำหนดจะต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการอาหารและยาก่อนจึงจะสามารถแสดงการกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหารบนฉลากได้ ส่วนผู้ประกอบการรายเดิมหรือผู้ประกอบการรายเก่าที่เคยได้รับความเห็นชอบฉลากอาหารจากคณะกรรมการอาหารและยาก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้บังคับใช้ จะต้องขอยื่นแก้ไขฉลากได้ที่กองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยในระหว่างที่รอการแก้ไขก็สามารถใช้ฉลากอาหารเดิมได้ แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี นับจากวันที่ประกาศฉบับนี้บังคับใช้ (ไม่เกินวันที่ 12 สิงหาคม 2552) หากผู้ประกอบการรายใดไม่ปฏิบัติตามที่คณะกรรมการอาหารและยากำหนดหรือใช้ข้อความกล่าวอ้างที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอาหารและยา จะมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
          ท่านผู้ฟังที่เคารพ ข้อความกล่าวอ้างคุณค่าทางโภชนาการของสารอาหารที่ปรากฏอยู่ตามฉลากอาหารเป็นสิ่งที่สำคัญในการชักจูงใจผู้บริโภคที่จะซื้อหาไปรับประทาน จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบว่าถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการอาหารและยาจึงได้ดำเนินการให้มีการประกาศของสำนักคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อควบคุมดูแลข้อความกล่าวอ้างเกี่ยวกับหน้าที่ของสารอาหารให้เป็นไปตามหลักวิชาการเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้ประโยชน์จากการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารนั่นเองครับ

เอกสารอ้างอิง

1. มติชน 9 กันยายน 2551

                                                       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น